วันที่ 30 เมษายน 2563 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ภายในตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. พร้อมด้วยคณะ อาทิ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 และนายกลิน สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงมาตรผ่อนคลายการอำนวยความสะดวกการดำรงชีวิตของประชาชน หรือ มาตรการผ่อนปรนประเภทกิจการและกิจกรรม
นายกฯ ส่งสาส์น ขอให้ร่วมมือเพราะเป็นงานยาก
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สาส์นจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศบค.ของการเริ่มมาตรการผ่อนปรนในวันที่ 30 เม.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์เน้นย้ำการดำเนินการในครั้งนี้ ถือเป็นความรับผิดชอบของคนไทยทั้งประเทศ ที่ได้ตัดสินใจร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปด้วยกัน
ทั้งในเรื่องของการระบาดและผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยหากเราสามารถควบคุมสถานการณ์ด้านสาธารณสุขในระยะแรกได้ก็จะมีการดำเนินการมาตรการผ่อนปรนในระยะต่อ ๆ ไปได้ นอกจากนี้ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ทำให้ประชาชนปลอดภัย บรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องค่าครองชีพ ค่าใช้จ่าย วิถีชีวิตของประชาชน และป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้
“หากเราควบคุมได้ไม่ดี ทุกอย่างอาจจะแย่ลง ทุกคนเข้าใจดีว่า เป็นงานที่ยาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ผู้รับบริการ ผู้อุปโภคบริโภค ขอให้ประชาชนร่วมมือกันด้วยความตั้งใจ มุ้งเน้นในเรื่องของการป้องกันตัวเองและผู้อื่น มีสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เผื่อแพร่ แบ่งปันกันก็จะสำเร็จได้”
พล.อ.ประยุทธ์ขอขอบคุณทุกคนที่มาร่วมกันในคณะกรรมการพิจารณามาตรการผ่อนปรน ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐ ภาคธุรกิจ เอกชน ประชาชน ผู้ประกอบการ บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ให้ข้อเสนอและหามาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการอย่างรอบคอบ
“คงไม่ใช่เพราะคำสั่งหรือการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว และต่อจากนี้จะเป็นหน้าที่ของคนไทยทั้งประเทศที่ต้องช่วยกัน ร่วมมือกัน มาตรการครั้งนี้ถึงจะสำเร็จได้”
ปลดล็อก 6 กิจการ-กิจกรรม
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อหลักหน่วยเท่านั้น กำหนดให้มีมาตรการผ่อนปรนที่มีมาตรฐานกลางของแต่ละกิจการของผู้ประกอบการ เช่น แผงลอย หาบแร่ และกิจกรรมของรายบุคคล เช่น การเข้าไปในสวนสาธารณะ การรำไทเก็กร่วมกัน
ศบค.จะกำหนดมาตรการผ่อนปรน โดยกำหนดมาตรฐานกลาง ของแต่ละกิจการ กิจกรรมในทุกพื้นที่ให้ยึดถือปฏิบัติ และ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำหนดรายละเอียดต่อไป
“ทั้งนี้ รายละเอียดของการปฏิบัติของแต่ละพื้นที่ สามารถมีความเข้มข้นมากกว่าได้ แต่น้อยกว่ามาตรฐานกลางไม่ได้ของศบค.ไม่ได้ แนวทางการดำเนินงานต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก นำปัจจัยด้านสังคม และปัจจัยได้เศรษฐกิจประกอบการพิจารณา เน้นย้ำนะครับ เอาเรื่องสาธารณสุขขึ้นมาก่อน สังคม เศรษฐกิจตามมา”
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับมาตรการผ่อนปรน 6 กลุ่มกิจการและกิจกรรม มีดังนี้
1.ตลาด ได้แก่ ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย
2.ร้านอาหาร ได้แก่ ร้านอาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่ม ขนนหวาน ไฮศรีม (นอกห้าง) ร้านอาหารริมทาง รถเข็นและหาบแร่
3.กิจการค้าปลีก-ส่ง ได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อบริเวณพื้นที่นั่ง/ยืนรับประทาน รถเร่ หรือ รถวิ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีกขนาดย่อย/ร้ายอาหารปลีกชุมชน ร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม
4.กีฬาสันทนาการ ได้แก่ กิจกรรมในสวนสาธารณะ ได้แก่ เดินรำไทเก็ก สนามกีฬากลางแจ้งที่เป็นการออกกำลังกายโดยไม่ได้เล่นเป็นทีมและไม่มีการแข่งขัน ได้แก่ เทนนิส ยิงปืน ยิงธนู จักรยาน กอฟล์และสนามซ้อม
5.ร้านตัดผม-เสริมสวย ได้แก่ ร้านตัดผมเฉพาะตัด สระ ไดร์ผม
6.อื่น ๆ เช่น ร้านตัดขน ร้านรับเลี้ยงรับฝากสัตว์ โดยให้เริ่มเปิดกิจการและกิจกรรมได้ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.63
อย่าให้ซ้ำรอยตปท.-ระลอกสอง
ทั้งนี้ ให้ยึดถือข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 11 เช่น การทำความสะอาดพื้นผิว หรือ สถานที่ที่เกี่ยวข้องก่อนและหลังการทำกิจกรรม รวมถึงการกำจัดขยะมูลฝอย การใส่หน้ากากผ้าเสมอทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ การล้างมือด้วยสบู่ หรือ แอลกอฮอล์เจล การเว้นรักษาระยะห่าง 1 เมตร และมีแอพลิเคชั่นตามตัว.
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ กว่าจะมีมาตรการที่จะประกาศในวันนี้ ผ่านมาแล้วหลายเวที ทั้งเวทีภาคธุรกิจ ภาคกระทรวงสาธารณสุข สศช. ฝ่ายความมั่นคง
“การผ่อนคลายมาตรการทั้งหลายจะมีผลต่อตัวเลขการติดเชื้อทั้งสิ้น เนื่องจากคนเป็นพาหะของโรค ถ้าเราผ่อนมากเกินไปการกลับเข้ามาของโรคติดเชื้อโควิด-19 จะเหมือนกับประเทศข้างเคียงของเรา ที่ต้องกลับมามีมาตรการตึงขึ้นเหมือนเดิม”
คงเคอร์ฟิว-ห้ามเข้า-ออกประเทศ
ทั้งนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบขยายการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตั้งแต่วันที่ 1 จนถึง วันที่ 31 พ.ค.63
ดังนั้นการตรึงสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีอยู่ ดังนี้
1.มาตรการการห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ในช่วงเวลา 22.00 น. จนถึง 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น
2.การเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักร ทั้งทางบก-ทางน้ำและทางอากาศภายในประเทศ
3.การคง Stet Quarantine ตามนโยบายของผู้อำนวยการศบค.ที่ให้มีสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (Stet Quarantine) ซึ่งมีจำนวนมากหลายพันคน และตรวจพบคนติดเชื้อ 80 กว่าคน หากไม่มี อาจทำให้มีผู้ติดเชื้อเป็นหมื่นคน จึงจำเป็นต้องควบคุมการเข้า-ออกราชอาณาจักร”
4.การจำกัดการบินเข้า-ออกสายการบินระหว่างประเทศ โดยอนุญาตให้บินเข้าเฉพาะสายการบินบางประเภท เช่น กรณีขนส่งสินค้า และรับคนตามข้อตกลง เป็นระยะเวลา 1 เดือน ( 1 -31 พ.ค.63)
5.ยังคงงดการเดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่มีเหตุจำเป็น
6.ยังคงแนวทางการทำงานที่บ้าน (Work from home) อย่างน้อยร้อยละ 50
7.การเข้มงวดไม่ได้คนเคลื่อนย้ายคนเข้าไปในพื้นที่แออัด-มีคนจำนวนมาก มีกิจกรรมร่วมกันที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
14 วันอันตราย-ไทม์ไลน์เปิดเมือง
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เราจะใช้เวลา 14 วันหลังจากนี้ไป คอยติดตาม ประเมินผล ถ้ามีตัวเลขของการติดเชื้อคงที่ไปเรื่อย ๆ แสดงว่าประชาชนให้ความร่วมมือและวิธีการจัดการตัวเอง กิจการและกิจกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป
“แต่ถ้าภายใน 14 วันนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นสองหลัก เพิ่มขึ้นเป็นสามหลัก พวกเราต้องยอมรับและมาช่วยกันคิด ต้องถอยหลังกลับมาในความตึงขึ้นของกิจการและกิจกรรม ต้องถูกทบทวนใหม่ เดินไปด้วยกัน”
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า การผ่อนคลายหลังจากนี้จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ระยะครั้งละ 25 เปอร์เซ็นต์ 4 ครั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ หรือ ระยะเวลาครั้งละ 14 วัน หรือ 2 เดือน อย่างไรก็ตามมีตัวแปรของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของประเทศเพื่อนบ้านในการนำมาพิจารณาผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ
“ถ้าวันนี้เราร่วมมือกันเป็นอย่างดี อาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้ ถ้าวันนี้เราหย่อนกันมากแล้วพรุ่งนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมาเป็น 2 หลัก สิ่งที่พูดกันวันนี้เท่ากับกลายเป็นศูนย์ทันที ไม่มีอะไรแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์”
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เป็นภาระของผู้บริหารแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ภาคเอกชนแต่เพียงเจ้าเดียว แต่เป็นทุนคนมีส่วนร่วมด้วยกันทั้งหมด ต้องร่วมมือกันให้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จึงสามารถควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี
“หลายประเทศเพลี่ยงพล้ำไปนิดเดียว ต้องกลับไปเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ใน 14 วันข้างหน้านี้”
3 เดือน เลขตัวเดียว “ชาติพ้นภัย”
นายทศพร กล่าวว่า การประเมินความเสี่ยง แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ระยะแรก 6 กิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงน้อยที่จะเริ่มผ่อนคลายได้ในวันที่ 3 พ.ค.63 ระยะที่ 2 และ ระยะที่ 3 จะผ่อนคลายได้เมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับ 2 ตัวแปรในระยะที่ 1 คือ ตัวแปรที่ 1 ถ้า 14 วันนี้ ไม่มีผู้ติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญจะมีการผ่อนคลายระยะที่ 2 และ ระยะ 3 ได้
“มาตรการรองรับการผ่อนคลายระยะที่ 2 และระยะที่ 3 จะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยห้างร้านที่จะเปิดในระยะต่อจากนี้ไป จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งต้องมีการขออนุญาตจากราชการและท้องถิ่น โดยจะได้รับแอปพลิเคชั่นให้ประชาชนจะเข้าไปรับบริการก็ต้องใช้มือถือสแกน”
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ช่วงเวลานี้อยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน และกำลังจะเข้าสู่ในอีก 14 วันข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อย่างไรก็ตามยังต้องการความร่วมมือจากประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนเดิม
“ถ้าหากประชาชนทำดีต่อไปก็ยังคงตัวเลขผู้ติดเชื้อตัวเดียวได้ แถมยังได้เรื่องของการมีอิสระในการไปจับจ่ายใช้สอย ประกอบอาชีพยังเหมือนเดิม ซึ่งคนที่ตรวจสอบได้ดี คือ ประชาชน ช่วง 14 วันนี้จะเป็น 14 วันแห่งการเปลี่ยนแปลง 14 วันแห่งการปรับตัว เป็น 14 วันที่เราจะมาใช้ชีวิตวิถีใหม่ ถ้าเราช่วยกันได้ก็จะเห็นตัวเลข 1 หลักในอีก 3 เดือนข้างหน้า และพ้นภัยกันได้ทั้งประเทศ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า การฆ่าตัวตายจนเป็นพฤติกรรมเลียนแบบเตรียมแก้ปัญหาอย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้หารือกันหลายครั้งและเทียบเคียงกับกรณีศึกษาในหน้าหนังสือพิมพ์และเนื้อหาทางวิชาการเพื่อลดการสูญเสียจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ดังนั้น สัญญาณของการฆ่าตัวตาย สัญญาณของการเจ็บป่วยทางจิตและทางกายเพื่อช่วยเหลือให้ตรงจุด เช่น ด้านเศรษฐกิจ เพื่อลดการสูญเสีย ซึ่งเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
“เราเคยเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ตอนนั้นตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นมาเป็น 8.3 คนต่อ 1 แสนประชากร แต่ครั้งนี้ยังไม่เหมือนตอนนี้และสามารถทำให้มีแนวโน้มลดลง”
งดขายสุราต่อ-ไม่มีกำหนด
นายฉัตรชัยกล่าวว่า เรื่องการห้ามขายสุรา ซึ่งเป็นปัจจัยนำไปสู่ความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น การห้ามขายสุราจึงยังคงมีผลต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
นายกลิน กล่าวว่า ร้านอาหารทั่วไปที่สามารถเปิดได้ คือ ห้องแถวไม่เกิน 2 คูหา และต้องมีมาตรการป้องกัน เช่น รักษาระยะห่าง 1 เมตร ใส่หน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า ร้านอาหารขนาดใหญ่ยังไม่สามารถเปิดได้ รวมถึงร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารในตลาดคนเดินต้องห่างกัน 1 เมตร สุดท้ายของให้ทุกคน Work from home ให้มากที่สุด
ติดแอพลิเคชั่นนับคนเข้าห้าง-อีก 2 เดือน ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การบินภายในประเทศยังไม่ผ่อนปรนมากนัก แต่ไม่ได้ห้าม เป็นเพียงจำกัดการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดที่ไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามสายการบินมาตรฐานและมีมาตรการรักษาความสะอาดรองรับ เช่น ในห้องโดยสาร การรักษาระยะห่าง การเสิร์ฟอาหาร
สำหรับการเดินทางเข้าประเทศของคนไทยยังยินดีรับคนไทยเข้าประเทศให้ได้มากที่สุด ภายใต้การคัดกรอง ทั้ง local Quarantine และ Stet Quarantine ส่วนแรงงานในฝั่งมาเลเซียจำกัดจำนวน 350-400 คนต่อวัน ขณะที่แรงงานต่างด้าวจะมีการมาตรฐานการกักตัว 14 วันในด่านชายแดน ทั้งนี้ การจะเพิ่มหรือลดจำนวนคนเข้าประเทศขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและสถานที่รับรอง 14 วัน
พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า ระหว่างการผ่อนคลาย 14 วัน ถ้ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็ต้องไปดูว่ากิจการและกิจกรรมใดที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ไม่ใช่การเหมารวมปิดทั้งหมด ส่วนการเปิดห้างสรรพสินค้ายังไม่กำหนดว่าจะเปิดระยะใด เพราะจะต้องมีแอพลิเคชั่นนับจำนวนคนเข้าห้าง หรือ หากมีผู้ติดเชื้อก็สามารถติดตามตัวได้
“หากในอีก 2 เดือนข้างหน้า มีผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อย ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯต่อไป เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ”
ติดเชื้อไม่เกิน 30 คน ผ่อนปรนเฟส 2-3 ได้
นพ.สุขุมกล่าวว่า จากการคาดการณ์มีผู้ป่วยใหม่วันละ 7-9 คนมา 4 วัน และผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ประมาณ 200 คน จากมาตรการต่าง ๆ ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 คน นอกจากนี้ยังอยู่ในมาตรการควบคุมการเข้า-ออกประเทศ คาดว่ามาตรการผ่อนปรนจะดำเนินการไปได้ด้วยดี ควบคู่ไปกับมาตรการรักษาระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ
“กลุ่มกิจการสีขาวจะสามารถผ่อนคลายได้ทันที ถ้าระหว่างนี้ประชาชนช่วยกัน โดยทำงานที่บ้านของภาคเอกชนและราชการ หลีกเลี่ยงการออกมาในพื้นที่ชุมชน การใช้รถสาธารณะ ภายใน 14 วัน จำนวนผู้ป่วยไม่น่าเพิ่มเติม 20-30 คน ก็จะสามารถผ่อนปรนในระยะ 2 และระยะที่ 3 ต่อไปได้”
Admin : ข้าวปั้น
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก ประชาชาติธุรกิจ
สนใจแพคเกจท่องเที่ยว, ตั๋วเครื่องบินทั่วโลก หรือบัตรท่องเที่ยวต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02-2945598, 092-294 5598
หรือ คลิ๊ก https://www.itravelroom.com/