สัปดาห์นี้มีข่าวดีสำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียงเลขหลักเดียว ทุกคนลุ้นให้ผู้ติดเชื้อลดน้อยลงไปจนเท่ากับศูนย์ ขณะที่ภาครัฐเตรียมคลายล็อกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระเตื้อง
แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 จะยังทรงๆ แต่ก็ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียงเลขหลักเดียว ซึ่งทุกคนก็ลุ้นให้ผู้ติดเชื้อลดน้อยลงไปจนเท่ากับศูนย์ ขณะที่ภาครัฐเตรียมคลายล็อกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระเตื้อง โฟกัสโหมดการเดินทางขยับตัวกันแล้วโดยเฉพาะทางอากาศ ธุรกิจการบินเตรียมพร้อมเปิดทำการบินในประเทศอีกครั้งวันที่ 1 พ.ค.นี้
ข้อมูลกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ระบุว่า ขณะนี้สายการบินที่ขอหยุดทำการบินชั่วคราวถึงวันที่ 30 เม.ย.63 เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แจ้งความประสงค์มายัง ทย. เพื่อจะกลับมาเปิดทำการบินเส้นทางภายในประเทศที่ท่าอากาศยานในสังกัด ทย. ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้ เบื้องต้นตารางการบินเดือน พ.ค.63 มีสายการบินให้บริการ 4 สาย รวม 24 เส้นทาง ประกอบด้วย สายการบินนกแอร์ 10 เส้นทาง สายการบินไทยแอร์เอเชีย 9 เส้นทาง สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ 3 เส้นทาง และสายการบินไทยเวียตเจ็ท 2 เส้นทาง
ในส่วนของท่าอากาศยาน (สนามบิน) ของ ทย. ที่หยุดให้บริการชั่วคราวไปก่อนหน้านี้ จะกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ รวม 14 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานลำปาง, ท่าอากาศยานแม่สอด, ท่าอากาศยานพิษณุโลก, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์, ท่าอากาศยานสกลนคร, ท่าอากาศยานนครพนม, ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด, ท่าอากาศยานขอนแก่น, ท่าอากาศยานอุบลราชธานี, ท่าอากาศยานอุดรธานี, ท่าอากาศยานตรัง, ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช, ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี และท่าอากาศยานกระบี่
ส่องรายละเอียดเส้นทางบินให้บริการรวม 31 เที่ยวบินต่อวัน แบ่งเป็น สายการบินนกแอร์ 15 เที่ยวบินต่อวัน ในเส้นทาง ดอนเมือง-ลำปาง, ดอนเมือง-แม่สอด, ดอนเมือง-พิษณุโลก, ดอนเมือง-บุรีรัมย์, ดอนเมือง-สกลนคร, ดอนเมือง-ขอนแก่น, ดอนเมือง-อุบลราชธานี, ดอนเมือง-อุดรธานี, ดอนเมือง-นครศรีธรรมราช และดอนเมือง-สุราษฎร์ธานี
ไทยแอร์เอเชีย 9 เที่ยวบินต่อวัน เส้นทาง ดอนเมือง-พิษณุโลก, ดอนเมือง-นครพนม, ดอนเมือง-ร้อยเอ็ด, ดอนเมือง-ขอนแก่น, ดอนเมือง-อุบลราชธานี, ดอนเมือง-อุดรธานี, ดอนเมือง-ตรัง, ดอนเมือง-นครศรีธรรมราช และดอนเมือง-สุราษฎร์ธานี ไทยเวียตเจ็ท 4 เที่ยวบินต่อวัน ในเส้นทาง สุวรรณภูมิ-อุดรธานี และสุวรรณภูมิ-กระบี่ และสายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ 3 เที่ยวบินต่อวัน เส้นทาง ดอนเมือง-อุบลราชธานี, ดอนเมือง-นครศรีธรรมราช และดอนเมือง-สุราษฎร์ธานี
ด้าน นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้เชิญสายการบินสัญชาติไทยและสายการบินต่างชาติกว่า 20 สายการบิน มาประชุมหารือและทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการควบคุมโรค เตรียมพร้อมก่อนกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศโดยจะออกเป็นประกาศกำหนดมาตรการ และแนวปฏิบัติชั่วคราวในการควบคุมโรคที่ชัดเจน เพื่อให้ทุกสายการบินปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดต่อไป
เบื้องต้นมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย สายการบินต้องขายบัตรโดยสารในลักษณะที่นั่งเว้นที่นั่ง โดยต้องขายเฉพาะที่นั่งริมหน้าต่าง และริมทางเดินเท่านั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการรักษาระยะห่างระหว่างผู้โดยสาร (Social Distancing) ยกเว้นเครื่องบินขนาดเล็กแบบใบพัด แต่จะให้บรรทุกผู้โดยสารได้เพียง 70% ของที่นั่งเท่านั้น และจะใช้วิธีนั่งกระจายตามจำนวนผู้โดยสารแต่ละเที่ยวบิน นอกจากนี้ต้องใช้มาตรการรักษาระยะห่างตั้งแต่ผู้โดยสารก้าวเข้ามาในสนามบิน เช็คอิน ขึ้นเครื่อง และออกจากสนามบินในทุกขั้นตอน
บนเครื่องบินต้องไม่มีบริการอาหาร และเครื่องดื่มระหว่างเที่ยวบิน รวมทั้งห้ามผู้โดยสารนำอาหารขึ้นมารับประทานเอง หากจำเป็นต้องดื่มน้ำเพื่อทานยาให้แจ้งลูกเรือทันที ทั้งนี้เส้นทางที่มีระยะเวลาการบินเกินกว่า 90 นาที สายการบินต้องกันที่นั่ง 2 แถวหลังไว้สำหรับแยกผู้โดยสารที่มีอาการน่าสงสัยระหว่างเที่ยวบินด้วย และผู้โดยสารทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาการเดินทาง หากไม่ปฏิบัติตามสายการบินสามารถปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องบินได้ ขณะที่ลูกเรือต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ถุงมือ และ Face shield ด้วย
ผู้อำนวยการกพท. ยังแจกแจงด้วยว่า มาตรการระยะห่างจะทำให้แต่ละเที่ยวบินบรรทุกผู้โดยสารได้น้อยลง หรือหายไปประมาณ 30% ปัจจุบันสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) สามารถเก็บค่าโดยสารสุดได้ถึง 9.40 บาทต่อกม. และตามปกติสายการบินจะคิดค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 บาทต่อกม. ดังนั้นหากยังขายตั๋วไม่เกินเพดานที่ กพท. กำหนดถือว่าไม่มีความผิด แต่เชื่อว่าคงไม่มีสายการบินใดคิดค่าตั๋วเต็มเพดาน เพราะเวลานี้ผู้เดินทางมีแต่คนที่จำเป็นต้องเดินทางจริงๆ เท่านั้น สายการบินก็ทำการบิน เพื่อให้มีรายได้เข้ามาบ้าง ไม่ได้หวังกำไรสูง เพราะหากคิดค่าตั๋วแพงเกินไปผู้โดยสารก็ไม่ใช้บริการ เท่ากับเป็นการฆ่าตัวเอง
“ ประกาศ กพท. เรื่องห้ามอากาศยานบินเข้าประเทศไทยชั่วคราว จะสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย.63 ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะขยายอายุประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย.นี้หรือไม่ หากรัฐบาลประกาศขยาย ทาง กพท. ก็จะขยายประกาศตามเช่นกัน แม้แนวโน้มการระบาดในไทยจะทรงตัว และลดน้อยลง แต่ในต่างประเทศยังแพร่ระบาดค่อนข้างมาก จึงค่อนข้างลำบากที่จะเปิดให้ทำการบินเข้ามาในไทยได้ เวลานี้ยังไม่มีสายการบินใดแจ้งความประสงค์เปิดทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศมายัง กพท. ทั้งนี้คาดว่าธุรกิจการบินจะกลับมาคึกคักได้อีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 63 หรือประมาณเดือน ต.ค.63” นายจุฬา กล่าวถึงเส้นทางบินในต่างประเทศ
ร่วมให้กำลังใจธุรกิจการบินและทุกภาคส่วนรวมทั้งประชาชนคนไทยผ่านวิกฤติโรคระบาดนี้ไปด้วยกัน
ขอบคุณข้อมูลและรูปจาก : ข่าวสด
Admin : ข้าวปั้น
สนใจแพคเกจท่องเที่ยว, ตั๋วเครื่องบินทั่วโลก หรือบัตรท่องเที่ยวต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02-2945598, 092-294 5598
หรือ คลิ๊ก https://www.itravelroom.com/