ธุรกิจสายการบินได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสชัดเจนและรุนแรงมากที่สุด เนื่องจากรัฐบาลทั่วโลกบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์ หรือจำกัดการเดินทาง ทำให้ผู้คนไม่สามารถเดินทางได้ตามปกติ
จากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) พบว่า เกือบสองในสามของเครื่องบินพาณิชย์ทั่วโลกที่มีอยู่ทั้งหมด 26,000 ลำต้องยุติการบิน ส่งผลให้พนักงานสายการบินทั่วโลกราว 25 ล้านคนเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ
และในปีนี้สายการบินทั่วโลกจะมีรายได้จากการขายตั๋วลดลง 314,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และครึ่งหนึ่งของสายการบินเหล่านี้จะต้องพบกับการล้มละลายภายใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล
1.ความรุนแรงของความเสียหายในธุรกิจการบินชัดเจนขึ้นหลังจากสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปอย่าง Flybe ของอังกฤษเงินขาดมือจนต้องประกาศล้มละลายเมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ไม่ถึง 2 เดือนหลังจากบริษัทสามารถตกลงเงื่อนไขรับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษ ส่งผลให้พนักงานราว 2,400 ชีวิตถูกลอยแพ
2.สายการบิน Virgin Australia ของมหาเศรษฐีอารมณ์ดี ริชาร์ด แบรนสัน ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของออสเตรเลียกลายเป็นสายการบินแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เข้าสู่กระบวนการล้มละลายเมื่อวันที่ 21 เม.ย. หลังจากรัฐบาลออสเตรเลียไม่อนุมัติเงินกู้ ต้องตัดลดพนักงานราว 8,000-10,000 ตำแหน่งทั้งพนักงานที่ไม่จำเป็นและการเลย์ออฟชั่วคราว
3.สายการบิน Virgin Atlantic สายการบินสัญชาติอังกฤษซึ่งเป็นของแบรนสันเช่นกันก็ตกอยู่ในชะตาเดียวกันหลังจากรัฐบาลอังกฤษไม่อนุมัติเงินกู้ ทางสายการบินประกาศว่าจะปลดพนักงาน 3,150 ตำแหน่ง หรือราว 1 ใน 3 ของพนักงานทั้งหมด และจะหยุดให้บริการที่สนามบินแกตวิกในกรุงลอนดอนของอังกฤษ
4.IAG บริษัทแม่ของสายการบิน British Airways ที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ประสบภาวะขาดทุนจากการประกอบการถึง 535 ล้านยูโร หรือราว 18,713 ล้านบาทในไตรมาสแรก ทำให้สายการบิน British Airways ประกาศปลดพนักงาน 12,000 คน หลังจากพักงานไปก่อนหน้านี้แล้ว 23,000 คน
5.สำนักข่าว BBC ยังรายงานว่า British Airways มีแผนจะปิดฐานปฏิบัติงานที่สนามบินแกตวิกในกรุงลอนดอนซึ่งเป็นฐานที่ใหญ่เป็นอันดับสองของสายการบิน ขณะที่ อเล็กซ์ ครูซ ซีอีโอ แจ้งพนักงานว่า สายการบินกำลังเผชิญกับวิกฤตที่รุนแรงกว่าที่เคยเผชิญหลังการระบาดของซาร์สและเหตุการณ์ระเบิดตึก 9/11
6.สายการบิน Norwegian Air ของนอร์เวย์ หยุดบินราว 95% ของเส้นทางการบินทั้งหมดตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. และคาดว่าจะหยุดขึ้นบินไปจนถึงปีหน้า และจะฟื้นตัวกลับมาบินเต็มที่ในปี 2022 ส่งผลให้ทางสายการบินต้องประกาศให้บริษัทนักบินและลูกเรือทั้งในเดนมาร์กและสวีเดนเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย กระทบกับนักบิน 1,500 คน และพนักงานต้อนรับกว่า 3,000 คน
7.สายการบิน Scandinavian Airlines ยกเลิกเที่ยวบินส่วนใหญ่ในเดือน เม.ย. ตัดลดพนักงาน 5,000 ตำแหน่ง หรือราว 40% ของพนักงานทั้งหมด เบื้องต้นรัฐบาลสวีเดนและเดนมาร์กอนุมัติค้ำประกันเงินกู้ 3,000 ล้านโครน หรือราว 9,466 ล้านบาท และ 146 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4,712 ล้านบาทจากนอร์เวย์
8.สายการบิน Air France-KLM ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ถือหุ้นอยู่ประเทศละ 14% ขาดทุนในไตรมาสแรกของปีนี้ถึง 1,800 ล้านยูโร ซึ่งสูงกว่าตัวเลขขาดทุนในไตรมาสแรกของปีที่แล้วกว่า 5 เท่า อันเนื่องมาจากการตัดลดการบินลง 70-90% นอกจากนี้ยังมีแผนจะลดพนักงานราว 1,500-2,000 ตำแหน่งจากทั้งหมด 35,000 ตำแหน่ง รวมทั้งลดการบินอย่างน้อย 30% ในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้
9.สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า United Airlines สายการบินชั้นนำของสหรัฐมีแผนเลย์ออฟพนักงานระดับผู้บริหารราว 30% หรือราว 3,450 คน และคาดว่านักบินอาจตกงานราว 12,250 คน ขณะที่รัฐบาลสหรัฐปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่สายการบิน 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และทางสายการบินจะกู้เพิ่มจากกระทรวงการคลังอีก 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ
10.สายการบิน Alitalia ของอิตาลีที่ประสบปัญหาทางการเงินจนต้องยื่นล้มละลายตั้งแต่ปี 2017 ถูกมรสุมโคโรนาไวรัสกระหน่ำซ้ำจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เที่ยวบินต่างระเทศลดลง 22% และเตรียมจะปลดพนักงานกว่า 6,800 คน จนรัฐบาลอิตาลีต้องอัดฉีดเงิน 500 ล้านยูโรเพื่อพยุงไม่ให้ล้มโดยแลกกับการเปลี่ยนสายการบินให้เป็นของรัฐ
11.Air Canada สายการบินที่ใหญ่ที่สุดของแคนาดา ขาดทุนในไตรมาสแรก 1,050 ล้านเหรียญแคนาดา เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ทำกำไร 345 ล้านเหรียญแคนาดา และคาดว่าปริมาณการบินจะลดลงในไตรมาสที่สามจะลดลง 75% จากไตรมาสปัจจุบันที่ลดลง 85-90% ส่งผลให้ต้องพักงานพนักงานแล้ว 36,000 คน ทางสายการบินมองว่าผลกระทบจาก Covid-19 จะอยู่ไปอย่างน้อย 3 ปี
12.วิกฤตธุรกิจการบินยังส่งผลสะเทือนไปถึงผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่อย่างแอร์บัส ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของยุโรป ที่ต้องลดการผลิตเครื่องบินลง 1 ใน 3 เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. เนื่องจากสายการบินต่างๆ โดยเฉพาะ British Airways ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ยุติการสั่งเครื่องบินใหม่ ส่งผลให้แอร์บัสขาดทุนในไตรมาสแรก 481 ล้านยูโร จนต้องสั่งพักงานพนักงานทั้งในอังกฤษและฝรั่งเศสราว 6,200 คน
13.ฝั่งโบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องบินของสหรัฐเจอมรสุมหนักหน่วงไม่แพ้กัน เมื่อกว่า 1 ปีที่แล้วเครื่องบิน 737 แม็กซ์ของโบอิ้งถูกสั่งจอดชั่วคราวหลังจากเหตุเครื่องบินตกไล่เลี่ยกัน 2 ครั้งในรอบ 5 เดือน เมื่อบวกกับการหยุดบินเนื่องจากโคโรนาไวรัส โบอิ้งจึงบาดเจ็บไม่น้อย โดยไตรมาสแรกของปีนี้ขาดทุนถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับปีก่อนที่กำไร 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ
14.โบอิ้งต้องปลดพนักงาน 10% ของพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่ 160,000 คน หรือลดลง 16,000 คน รวมทั้งต้องหั่นตัวเลขการผลิตเครื่องบินรุ่นยอดนิยม รวมทั้ง 787 และ 777 เพราะคำสั่งซื้อหดหาย
15.การลดการผลิตเครื่องบินของทั้งโบอิ้งและแอร์บัสยังส่งผลกระทบไปถึง Spirit AeroSystems Holdings ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินให้กับทั้งสองบริษัทยักษ์ใหญ่ รายได้ของ Spirit AeroSystems Holdings ในไตรมาสแรกที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ลดลงถึง 45% หรือคิดเป็นตัวเลขขาดทุน 163 ล้านเหรียญสหรัฐ
16.แม้ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเมื่อใดผู้คนทั่วโลกจะกลับมาเดินทางด้วยเครื่องบินอีกครั้ง แต่ผลการสำรวจของ IATA พบว่า นักเดินทาง 40% จะรออย่างน้อย 6 เดือนหลังจากควบคุมการแพร่ระบาดได้จึงจะกลับมาใช้บริการสายการบินอีกครั้ง
17.เดวิด คาลฮูน ซีอีโอโบอิ้งเผยว่า “ธุรกิจการบินต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าการเดินทางจะกลับมาเป็นเหมือนช่วงก่อน Covid-19 ระบาด” ส่วน กีโยม โฟรี ซีอีโอแอร์บัสเผยว่า อาจต้องใช้เวลาราว 3-5 ปีในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้โดยสารให้กลับมาเดินทางด้วยเครื่องบินในอัตราเดียวกับช่วงก่อนเชื้อโคโรนาไวรัสระบาด “ขณะนี้เราอยู่ท่ามกลางวิกฤตที่หนักที่สุดของธุรกิจการบินเคยพบมา”
18.อย่างไรก็ดี แม้จะควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว แต่การเดินทางด้วยเครื่องบินอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สายการบินหลายแห่ง อาทิ EasyJet มีแผนจะเว้นที่นั่งตรงกลางไว้ เพื่อให้ผู้โดยสารมั่นใจว่ามีการเว้นระยะห่างระหว่างกัน ส่วนKorean Air Lines มีนโยบายให้ลูกเรือสวมแว่นครอบตา หน้ากากอนามัย ถุงมือ และชุดป้องกันการติดเชื้อขณะให้บริการ
19.ส่วนฝั่งผู้โดยสารอาจต้องแบกรับค่าตั๋วเครื่องบินที่สูงขึ้น การตรวจคัดกรองด้านสุขภาพที่เข้มงวดขึ้น
อย่างที่ วอร์เรน บัฟเฟต มหาเศรษฐีนักลงทุนกล่าวถึงธุรกิจสายการบินไว้ว่า “โลกเปลี่ยนไปแล้วสำหรับสายการบิน”
By: Bell Boy
ขอบคุณ ข้อมูลจาก SOURCE1
สนใจแพคเกจท่องเที่ยว, ตั๋วเครื่องบินทั่วโลก หรือบัตรท่องเที่ยวต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02-2945598, 092-294 5598
หรือ คลิ๊ก https://www.itravelroom.com/